นิ้วล็อครักษาอย่างไร

นิ้วล็อค เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกหุ้มเอ็นข้อนิ้ว ...

นิ้วล็อค เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกหุ้มเอ็นข้อนิ้ว ทำให้เอ็นที่อยู่ภายในไม่สามารถยืด หรือ หดได้ตามปกติ
สาเหตุ : เกิดจาก การใช้งานนิ้วมือ ในท่าทาง งอ เหยียดซ้ำๆ หรือเกร็งนิ้วมือขณะทำงานเป็นระยะเวลานาน โดยอาการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 : เริ่มมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
ระยะที่ 2 : มีอาการสะดุด ในขณะที่มีการขยับนิ้ว
ระยะที่ 3 : ข้อนิ้วเริ่มมีอาการติด แต่ยังสามารถเหยียด ออกได้
ระยะที่ 4 : ข้อนิ้วติดจนไม่สามารถเหยียดออกได้

การดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บ ให้หยุดพักกิจกรรมที่ต้องใช้งานซ้ำๆ หรือมีการเกร็งข้อนิ้วเป็นเวลานานๆ จากนั้นเอามือแช่น้ำอุ่น ประมาณ 10-20 นาที พร้อมกับขยับข้อนิ้วเบาๆ

คำเตือน เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บ หรือยึดติด ไม่ควรออกกำลังกายด้วยการ กำ-แบมือ แน่นๆ บ่อยๆ เพราะจะยิ่งทำให้ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบมากขึ้น หรือหนาตัวขึ้นได้ แต่สิ่งที่ควรทำคือ ขยับช้าๆ หรือใช้มืออีกข้างหนึ่งคลึงบีบเบาๆ ก็เพียงพอ. แต่ถ้ามีอาการอยู่ในระยะที่ 3 หรือ 4 แพทย์จะพิจารณาการฉีดสเตียรอยด์เฉพาะจุด หรือบางรายอาจต้องผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นที่หนาตัวขึ้น เพื่อให้เอ็นภายในข้อนิ้วสามารถยืด หด ได้ตามปกติ .

ตัวอย่างลักษณะงานที่เราพบได้บ่อย เช่นพนักงานออฟฟิศที่พิมพ์งานต่อเนื่องในระยะเวลานาน , แม่บ้านที่ซักผ้าและบิดผ้าบ่อยๆ หรือถือถุงใส่ของที่ต้องเกร็งข้อนิ้วนานๆ , ผู้ที่ถือมือถือต่อเนื่องในระยะเวลานานๆ , ช่างตัดผม , คนสวน ที่ต้องใช้กรรไกรซ้ำๆ หรือ ในนักกีฬาที่ต้องจับอุปกรณ์แน่นๆ นานๆ เช่น แบดมินตัน เทนนิส เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนิ้วล็อคได้ โดยหลีกเลี่ยงลักษณะกิจกรรมที่ต้องใช้งานนิ้วมือในท่าทางซ้ำ ๆ หรือเกร็งข้อนิ้วเป็นระยะเวลานาน ถ้ามีความจำเป็น ควรหยุดพักบ้างขณะใช้งาน